Google Discover

Google Discover เสิร์ฟคอนเทนต์สดใหม่ที่สนใจไว้หน้าโฮม

เชื่อว่าใครหลายคนย่อมมีแอพ Google ติดสมาร์ทโฟนไว้คอยหาคำตอบให้กับคำถามต่างๆ ในชีวิตประจำวันและเพื่อให้ผู้ใช้อย่างเราๆ อัปเดตเรื่องราวใหม่ๆ ทันอยู่เสมอ เมื่อกดเข้าแอพ Google เราจะเจอกับ Google Discover ที่หน้าตาเหมือนหน้าฟีด Social Media ทั่วไปแตกต่างตรงที่เนื้อหานั้นจะถูกคัดสรรมาให้ตรงกับความสนใจของเราโดยเฉพาะ ลองมาดูกันดีกว่าในฐานะคนที่คลุกคลีกับการใช้ Google ตลอดเวลาจะสามารถใช้ประโยชน์จาก Google Discover อย่างไรได้บ้าง

Google Discover คืออะไร ต่างจาก Google Search อย่างไร

อย่างที่เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ประชากรส่วนใหญ่ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนมากกว่าบนคอมพิวเตอร์ถึง 66.75% เทียบกับ 31.05% อ้างอิง โดยในประเทศไทยกว่า 69.98% ของผู้ใช้เข้าถึงเว็บไซต์ผ่านสมาร์ทโฟน เทียบกับ 27.49% ที่เข้าเว็บไซต์ผ่านคอมพิวเตอร์ อ้างอิง เพื่อให้ตอบรับกับแนวโน้มที่ว่านี้เอง Google Discover จึงเป็นรูปแบบของหน้าฟีดบนแอพ Google ที่คอยเลือกสรรคอนเทนต์สำคัญล่าสุดจากหลากหลายเว็บไซต์มาแสดงผลตามความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน แน่นอนว่าการนำคอนเทนต์สดใหม่ มาเสิร์ฟให้ถึงหน้าโฮมแบบนาทีต่อนาทีย่อมแตกต่างจาก Google Search ที่เราเป็นฝ่ายป้อนคำถามลงไปเพื่อให้ Google เลือกเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันกับคำค้นหามากที่สุดมาให้ ข้อแตกต่างชัดเจนที่สุดคือ Google Discover เป็นหน้าฟีดแบบ Personalised Feed ที่นำเสนอเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงต่อความสนใจของแต่ละบุคคล โดยพัฒนามาจาก Google Feed ที่มีผู้ใช้กว่า 800 ล้านคนต่อเดือน

Google Discover รู้ได้อย่างไรว่าคอนเทนต์ไหนจะถูกใจผู้ใช้

Google ติดตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ผ่าน Web & App Activity โดยเมื่อเราล็อกอินเข้าบัญชี Google และเปิดโหมดให้ Web & App Activity ทำงานแล้วนั้น Google จะบันทึกกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแอพ อย่างเช่น สิ่งที่เราค้นหา, ตำแหน่งที่อยู่, IP Address และ การคลิกโฆษณา ซึ่งทั้งหมดนี้เราสามารถเลือกเปิดหรือปิดได้ที่ Activity Control ทั้งหมดนี้ทำให้ Google สามารถดึงเอาแต่ละเนื้อหาขึ้นมาแสดงผลบนหน้าฟีดได้อย่างรวดเร็วและตรงกับความสนใจ รวมทั้งหากเราต้องการเพิ่มเว็บไซต์โปรดที่อยากติดตามคอนเทนต์ใหม่ๆ อยู่เสมอเราก็สามารถเข้าไปติดตามเว็บเหล่านั้นได้ผ่านฟีเจอร์ Follow เรียกได้ว่าช่วยแบ่งเบาภาระสมองจากสารพัดคอนเทนต์ที่ล้นหลามมาโฟกัสที่คอนเทนต์ที่เราสนใจจริงๆ 

Google Discover web&app activity

อยากให้คอนเทนต์ไปอยู่บน Google Discover บ้างต้องทำอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วเมื่อ Google เข้าไป index เนื้อหาแล้วนั้นตัวคอนเทนต์ก็มีโอกาสขึ้นมาปรากฏบนหน้าฟีด Discover ได้โดยอัตโนมัติ สิ่งสำคัญคือเราควรดูแลคุณภาพคอนเทนต์ให้ได้ตามมาตรฐาน คอนเทนต์นั้นๆ ควรถูกเขียนขึ้นโดยอาศัยความเชี่ยวชาญ ( Expertise ) ความเป็นเจ้าของ (Authoritativeness) และ ความน่าเชื่อถือ(Trustworthiness) รวมทั้งควรใส่ใจในเรื่องต่อไปนี้

  • เขียนหัวเรื่องให้ครบถ้วนได้ใจความโดยไม่สื่อสารออกมาเป็น Click-Bait
  • มีรูปภาพที่คุณภาพชัดและมีความน่าสนใจ ซึ่งรูปภาพที่มีขนาดใหญ่ทำให้เกิดยอดเข้าชมเว็บไซต์ได้ดีกว่า โดยรูปภาพควรมีขนาดความกว้างอย่างน้อยที่ 1200 px 
  • ผลิตเนื้อหาคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจในปัจจุบัน เล่าเรื่องได้ดี และให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีความน่าสนใจ
  • เนื้อหาคอนเทนต์ควรมีความโปร่งใส มีวันที่และชื่อผู้ผลิตอย่างชัดเจน รวมทั้งมีช่องทางติดต่อ
  • หลีกเลี่ยงการทำยอดengagement โดยการผลิตเนื้อหาที่อ่านแล้วไขว้เขว กล่าวอ้างเกินจริง หรือพรีวิวเนื้อหาในเชิงล่อเป้า

คอนเทนต์แบบไหนที่ Google ไม่นำมาไว้บนหน้า Discover

เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งาน Google Discover คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเหล่านี้จะไม่ถูกนำมาไว้บนหน้าฟีด

  • Sponsored Content คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาโฆษณาสินค้าหรือทำทีว่าไม่ได้โฆษณาสินค้าแต่ลิงก์ไปยังหน้าสินค้า
  • Dangerous content เนื้อหาที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อ่านหรือผู้อื่นไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยง
  • Deceptive practices เนื้อหาที่มีเจตนาหลอกลวง แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น นำเสนอสิ่งเท็จและก่อให้เกิดการเข้าใจผิด รวมทั้งการใช้สื่ออย่างภาพ วิดีโอที่ตัดต่อดัดแปลง
  • Medical content เนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ
  • Vulgar language & profanity เนื้อหาที่มีภาษาและถ้อยคำหยาบโลน แสดงออกถึงความเกลียดชัง (Hateful content) หรือ เลือกปฏิบัติ รวมทั้งเนื้อหาที่ล่วงละเมิดต่อบุคคล (Harassing content)

แน่นอนว่าการทำผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพให้ขึ้นไปอยู่บนหน้า Google Discover ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้มากขึ้น (New Visitors) และกลาย เป็นผู้ติดตามขาประจำ (Returning Visitors) โดยปกติแล้ว Traffic ที่เกิดจาก Google Discover จะถูกนับรวมไปกับ Organic Search จนอาจแยกที่มายาก ซึ่งหากเว็บไซต์ของเราไปปรากฏบนหน้า Google Discover อย่างสม่ำเสมอดีพอ เราจะสามารถเห็นยอดคลิกที่ชัดเจนได้จากฟีเจอร์ Discover บน Search Console (แต่หากไม่มีก็แปลว่ายอดคลิกยังไม่มา) 

ที่มาข้อมูล Developer l Google