ถ่ายรูปเพื่อนลงเฟส ผิด PDPA มั้ย

ถ่ายรูปเพื่อนลง Social Media ผิด PDPA ไหม ?

การถ่ายรูปและโพสต์ลงสื่อ Social Media ต่างๆ เช่น Facebook และ Instagram เป็นสิ่งที่เราทำกันเป็นประจำทุกวัน โดยที่รูปถ่ายนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรูปเซลฟี่ (Selfie), รูปสถานที่, รูปอาหาร, รูปกิจกรรม และอื่นๆ แต่การโพสต์รูปลง Social Media ในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องระมัดระวังกับความเป็นส่วนตัวและความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะต้องคำนึงถึงกฎหมาย PDPA และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในฐานะผู้โพสต์ โดยเฉพาะในกรณีที่ภาพนั้นมีข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นอยู่ เช่น ถ่ายรูปเพื่อนหรือคนรู้จักแล้วโพสต์ลง Social Media โดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน

ในบทความนี้ เราจะมาไขข้อสงสัยที่ว่าการถ่ายรูปเพื่อนลง Social Media มีโทษตาม PDPA หรือไม่ สามารถเข้าข่ายในกรณีไหนได้บ้าง และ เราควรมีวิธีปฏิบัติอย่างไรในกรณีที่รูปที่กำลังจะโพสต์นั้นสามารถเข้าข่ายผิด PDPA ถ้าพร้อมแล้ว เลื่อนลงไปอ่านกันได้เลยครับ

ถ่ายรูปเพื่อนลง Social Media จะสามารถผิด PDPA ได้อย่างไรบ้าง

การถ่ายรูปเพื่อนและโพสต์ลง Social Media นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า รูปภาพที่ติดใบหน้าบุคคล ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามคำนิยามของกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉะนั้นแล้ว รูปภาพบุคคลต่างๆ ย่อมได้รับการปกป้องและคุ้มครองจาก PDPA โดยกฎหมาย PDPA นั้นจะมุ่งเน้นในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหากเป็นการโพสต์ลง Social Media เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวก็สามารถกระทำได้ จากในกรณีดังต่อไปนี้

  1. หากไม่ได้รับความยินยอมจากเพื่อน – ถ้าเราถูกเพื่อนถ่ายรูปแล้วโพสต์ลง Social Media โดยเพื่อนไม่ได้ขอความยินยอมจากเราก่อน หรือในทางกลับกัน หากเราถ่ายรูปเพื่อนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเพื่อน 
  1. รูปภาพนั้นประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนบุคคล – ต้องอธิบายก่อนว่า หากรูปภาพที่ถ่ายนั้น มีติดภาพใบหน้าบุคคล หรือประกอบด้วย  ชื่อ, ที่อยู่, เลขบัตรประชาชน, เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ ทั้งนี้ ล้วนแล้วแต่ถือว่ามีข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น
  1. ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า – ถ้าเราใช้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า  โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล เช่น การนำรูปภาพไปใช้ในการสร้างรายได้ในทางธุรกิจ 

ฉะนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่า การถ่ายรูปบุคคลอื่นและโพสต์ลง Social Media นั้น ถือว่าอยู่ในขอบเขตการคุ้มครองตามกฎหมาย PDPA แล้ว เพราะรูปภาพที่ติดใบหน้าบุคคล ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทว่าหากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ได้ประมวลผลเพื่อใช้ในการสร้างรายได้ในทางธุรกิจ เราก็ยังคงสามารถกระทำได้ ภายใต้เงื่อนไขตาม PDPA อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไม่เข้าข่ายได้รับโทษตามกฎหมาย PDPA ในฐานะบุคคลทั่วไป เราก็ยังคงต้องระมัดระวังกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และการกระทบหรือละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอยู่ดีครับ

ทำอย่างไรให้เราพ้นจากความสุ่มเสี่ยงที่จะผิด PDPA

หากเราต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงตามกฎหมาย PDPA เมื่อโพสต์รูปภาพที่ประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนบุคคลลง Social Media สามารถทำได้ดังนี้

  1. เช็คก่อนแชร์ – ต้องระวังกับการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นบน Social Media โดยไม่ได้รับอนุญาต ควรระมัดระวังในการแชร์ภาพหรือแท็กผู้อื่นในภาพ ในกรณีที่ต้องการแชร์ภาพที่เป็นของเพื่อนหรือผู้อื่น ควรขออนุญาตก่อนและต้องละเว้นการแชร์ภาพหากไม่ได้รับอนุญาต หรือต้องมั่นใจว่าภาพที่จะโพสต์นั้นไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นอยู่
  1. ระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล – แน่นอนว่าการโพสต์รูปภาพบุคคลลง Social Media นั้นเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลลงบนพื้นที่สาธารณะ และเนื่องจากยุคปัจจุบัน ทุกคนเข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ตแม้ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากัน ฉะนั้นเราจึงไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจทำให้คนอื่นสามารถรู้จักตัวตนเราได้ เช่น ที่อยู่บ้าน, เลขประจำตัวประชาชน, หมายเลขโทรศัพท์ ฯลฯ
  1. แจ้งลบภาพหรือแก้ไขข้อมูล – หากต้องการลบรูปหรือแก้ไขข้อมูลส่วนตัวในภาพที่เราโพสต์ไปแล้ว เราสามารถทำได้โดยลบภาพหรือแก้ไขข้อมูลในโพสต์นั้นๆ หรือถ้าไม่สามารถทำได้ เราสามารถติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เราโพสต์ภาพไป เพื่อขอให้ลบภาพหรือแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด
  1. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย – หากเราไม่แน่ใจว่าการโพสต์ภาพนั้นอาจมีความเสี่ยงตาม PDPA หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ หรือไม่ สามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายเพื่อขอคำปรึกษา หรือติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้ใช้งาน Social Media และรักษาความเป็นส่วนตัวของตนเองอย่างเหมาะสม 

บทสรุป

ถึงแม้ว่าการถ่ายรูปกับเพื่อนแล้วโพสต์ลง Social Media เพื่อใช้งานส่วนตัว (Personal Use) นั้นไม่ได้มีบทลงโทษตาม PDPA) เนื่องจากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรายละเอียดของรูปภาพ รวมไปถึงประเภทข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกโพสต์ลง Social Media ด้วย เพราะนอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA แล้วนั้น ตัวเราเองก็ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการเล่น Social Media อยู่ เพื่อไม่ให้ไปละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว หรือสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลอื่นได้

ท้ายที่สุดแล้วการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ทุกคนควรปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงให้เกียรติและเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่นอย่างเคร่งครัด โดยใช้ความระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งของตนเองหรือของผู้อื่นบน Social Media อย่างมีสติและรอบคอบ เพื่อรักษาความปลอดภัยของตนเองและของผู้อื่นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

สำหรับใครที่ต้องการอ่านบทความดีๆแบบนี้เพิ่มเติม หรือสนใจอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ Service ต่างๆที่ทางเรามีให้ เพื่อตอบโจทย์กับเป้าหมายธุรกิจของคุณ สามารถคลิก “ติดต่อ Predictive” ด้านล่างนี้ได้เลยครับ และสำหรับบทความต่อไป ทางเราจะมีเรื่องอะไรมาแชร์อีก อย่าลืมติดตามเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ