Google Algorithm Updates

5 วิธีเช็คว่า Google Algorithm Updates ส่งผลกับเว็บไซต์เราหรือไม่

เมื่อ Google มีการปล่อย Algorithm Updates มาใหม่แต่ละครั้ง แต่ละเว็บไซต์ย่อมได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะเมื่อเรามีการติดตามยอดตัวเลขหลังบ้านอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนยิ่งทำให้เราสังเกตเห็นรูปแบบและสาเหตุได้รวดเร็วเช่นกัน ลองมาดูกันดีกว่าว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์เรานั้นมีผลมาจากการอัปเดตอัลกอริทึมหรือไม่ 

1.เช็คคุณภาพของคอนเทนต์

หลังๆ มานี้คนทำ SEO อาจจะมองเห็นได้ว่า Google ให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อหามากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างเช่นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากับการอัปเดตอัลกอริทึมในประเด็น Helpful Content Update เพื่อให้รางวัลกับคอนเทนต์ประเภท People-First Content หรือที่เรียกง่ายๆว่า คอนเทนต์ที่เข้าถึงใจคนอ่านด้วยเนื้อหาที่โฟกัสกับคนอ่านเป็นหลักเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้โดยเฉพาะ การมีอัปเดตอัลกอริทึมออกมาแต่ละทีก็ย่อมเป็นโอกาสอันดีให้เราได้กลับมาตรวจเช็คคุณภาพของคอนเทนต์ให้สอดรับกับสิ่งที่ Google ให้ความสำคัญเพื่อคงรักษาประสิทธิภาพของเว็บไซต์ เช่น

  • มีความเฉพาะเจาะจงเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายโดยตรงหรือไม่
  • ให้ข้อมูลเชิงลึกและแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้หรือไม่
  • เรียบเรืยงมาอย่างดี เขียนถูกต้อง ไม่มีคำสะกดผิด 
  • สามารถแสดงผลได้ดีบนทุกอุปกรณ์

อ่านต่อเพิ่มเติม – ​​SEO Content เช็คอย่างไรว่าคอนเทนต์บนเว็บไซต์ได้คุณภาพตาม SEO ดีพอ

2.เช็คจังหวะเวลา

หากเราสังเกตเห็นว่าตัวเลข Traffic มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทันทีทันใดหรือเส้นกราฟพุ่งขึ้นหรือลงแทบจะ 90 องศาแบบกระทันหัน ให้เราลองเทียบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับช่วงเวลาที่ Google มีการปล่อยอัปเดตอัลกอริทึมออกมา ซึ่งในปี 2022 นี้ Google มีไทม์ไลน์การอัปเดตต่างๆ ดังนี้

  • 22 กุมภาพันธ์ อัปเดต Page Experience สำหรับการใช้งานบนเดสก์ทอป เริ่มมีผลเมื่อ 3 มีนาคม
  • 23 มีนาคม อัปเดต Product Review 
  • 25 พฤษภาคม Google ปล่อย May 2022 Core Update เริ่มมีผลเมื่อ 9 มิถุนายน
  • 27 กรกฎาคม อัปเดต Product Review สำหรับรีวิวโปรดักส์ที่เป็นภาษาอังกฤษ เริ่มมีผลเมื่อ 2 สิงหาคม
  • 25 สิงหาคม อัปเดต August 2022 helpful content เริ่มมีผลเมื่อ 9 กันยายน 
  • 12 กันยายน Google ปล่อย September 2022 Core Update 

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหลัง Google ประกาศอัปเดตออกมามักจะเริ่มมีผลใช้จริงในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา

3. เช็คแหล่งที่มาของดาต้าเทียบกับจุดโฟกัสของแต่ละอัปเดต 

บางครั้งรายงานข้อมูลบน Google Search Console ที่เราติดตามอยู่ก็อาจไม่ได้แสดงผลความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดแจ้ง เพราะกว่าแต่ละอัปเดตจะเสร็จสิ้นก็อาจกินเวลากว่า 2 สัปดาห์ การเปรียบเทียบสัปดาห์ต่อสัปดาห์อาจไม่ได้ทำให้เราสังเกตเห็นมากนัก วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราวิเคราะห์ Traffic ได้ดีแม่นยำขึ้นคือการเทียบหน้าเพจกับจุดที่Google Updates โฟกัสในระยะเวลาปีต่อปี เช่น ในช่วงที่ Google มีการอัปเดต Helpful Content 2022 ไปและมีผลใช้ต้นกันยายน เราอาจใช้วิธีเปรียบเทียบช่วงเวลาดังกล่าวกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าเพื่อดูว่ารูปแบบของเส้นกราฟมีความผิดแปลกไปหรือไม่ 

4. Traffic พุ่งสูงช่วง Google Updates แปลว่าเราแข็งแกร่งใช่หรือเปล่า

แน่นอนว่าเห็นตัวเลข Traffic พุ่งพรวดไม่ว่าใครก็ย่อมชื่นใจในผลงานที่ผ่านมาของเว็บไซต์ หมายความกลายๆ ได้ว่าประสิทธิภาพของการใช้งานเว็บไซต์ค่อนข้างถูกใจกรรมการ แต่เพื่อความถี่ถ้วนก่อนจะสรุปความในทันทีเราอาจจะลองเช็คดูอีกทีว่าจริงๆ แล้วนั้นเกิดจากสาเหตุเหล่านี้หรือไม่

  • คู่แข่งที่เคยสู้กันมาอย่างสูสีตกจากหน้าค้นหาหรือไม่
  • รูปแบบของหน้าค้นหามีการจัดวางเปลี่ยนไปหรือเปล่า 
  • เส้นกราฟเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีการขึ้นๆ ลงๆ หรือพุ่งขึ้นอย่างชัดเจน

คำถามเหล่านี้มีเพื่อให้เราสามารถหาคำตอบได้อย่างชัดเจนว่าเว็บไซต์ของเราแสดงศักยภาพอย่างแท้จริงก่อนจะนิ่งนอนใจ

5. ถ้า Traffic ดิ่งลงเหวแปลว่าเราโดน Google Updates เล่นงานหรือไม่

หากจะต้องใจแป้วทั้งทีขอใจแป้วอย่างแน่นอนใจดีกว่า ซึ่งถ้า Traffic เราตกพรวดอย่างหกคะเมนตีลังกาสิ่งที่เราต้องพิจารณาร่วมด้วยคือความเชื่อมโยงระหว่างจุดโฟกัสของแต่ละอัปเดตกับคุณภาพของเว็บไซต์ โดยเฉพาะอัปเดตเกี่ยวกับ Helpful Content ที่เพิ่งออกมา ให้เราลองใช้วิธีฟิลเตอร์เลือกมาเฉพาะหน้าที่มีเนื้อหาคอนเทนต์โดยเฉพาะ เพราะหากเนื้อหาส่วนใหญ่บนเว็บไซต์ถูก Google มองว่าไม่ได้มีประโยชน์กับผู้ใช้ก็มีโอกาสสูงที่ Google Algorithm จะไม่เลือกเว็บของเราขึ้นมาแสดงผลบนหน้าค้นหาและมีเหตุผลเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าในการอัปเดตอัลกอริทึมครั้งนี้เรากลายเป็นผู้ที่ไม่ได้ไปต่อเพื่อกลับมาแก้จุดอ่อนที่เกิดขึ้นทันที

ทั้งหมดนี้จึงเป็นการเช็คว่า Google Algorithm Updates ส่งผลกับเว็บไซต์เรามากน้อยแค่ไหน เรากำลังปั้นเว็บไซต์มาถูกทางหรือไม่ รวมทั้งยังเป็นการประเมินจุดอ่อนจุดแข็งที่เรามีอยู่แล้วเพื่อหาแนวทางพัฒนาเว็บไซต์ให้พุ่งทะยานขึ้นอีกขั้นต่อไป

ที่มาข้อมูลจาก Search Engine Land