Google Optimize เครื่องมือเพิ่ม Conversion ด้วยการทดสอบ User Experience

Google Optimize เครื่องมือเพิ่ม Conversion ด้วยการทดสอบ User Experience

การที่แบรนด์จะส่งมอบประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมและตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเลือกที่จะอยู่กับเราต่อนั้น ในอดีตแบรนด์จะต้องลงทุนกับทรัพยากรอย่างมหาศาลในการทำการทดลอง ไม่ว่าจะเป็นทีมงาน, เวลา, ประสบการณ์ความรู้ หรือแม้แต่ Traffic บนเว็บไซต์ที่มากพอ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ SMEs จะเสี่ยงลงทุนในส่วนนี้ เนื่องจากการทดลองจะต้องมีจัดขึ้นเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้จบแค่ภายในครั้งเดียว แต่ในปัจจุบันเรามีเครื่องมืออำนวยความสะดวกมากมายในการเข้ามาช่วยทำการทดลองการตอบสนองต่อการใช้เว็บไซต์แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังที่เรากำลังจะพูดถึงนั่นก็คือ Google Optimize นั่นเองครับ 

ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกถึง Google Optimize ว่าเจ้าสิ่งนี้คืออะไร เหมาะกับใคร พร้อมทั้งฟีเจอร์ต่างๆในตัวว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ถ้าพร้อมแล้วเลื่อนลงไปอ่านกันได้เลย!

Google Optimize คืออะไร

Google Optimize คือหนึ่งในเครื่องมือจาก Google ในการทำ Personalization และทดสอบประสิทธิภาพเว็บไซต์ในวิธีต่างๆ เช่น A/B Test, Multivariate Test หรือ Redirect Test สำหรับสร้าง User Experience ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เพื่อตอบสนองสิ่งที่ผู้ใช้กำลังสนใจพร้อมทั้งเพิ่ม Conversion ให้กับตัวเว็บไซต์เอง 

Google Optimize ช่วยได้อย่างมากกับธุรกิจในยุค Data-driven โดยช่วยให้แบรนด์สามารถทดสอบสมมติฐานของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ เช่น การเปรียบเทียบว่าการใช้ภาพจริงหรือภาพกราฟฟิกจะสามารถสร้าง Traffic ได้มากกว่ากัน หรือ การเปลี่ยนสีปุ่ม Call-to-action เป็นสีเขียวนีออนจะทำให้จำนวนคลิกเพิ่มขึ้นกว่าเก่าหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านทีม Developer หรือการเขียนโค้ดใดๆด้วยตัวเอง ที่สำคัญสามารถทำการทดสอบได้มากถึง 5 แบบใน 1 ครั้งแบบฟรีๆ ทำให้เครื่องมือนี้เหมาะกับองค์กรทุกขนาด รวมไปถึงคนที่ไม่มีพื้นฐานในการเขียนโค้ดแต่อยากทำการทดสอบหน้าเว็บไซต์ในรูปแบบต่างๆ

ฟีเจอร์ใน Google Optimize

Google Optimize จะมีฟีเจอร์หลักๆทั้งหมด 9 ฟีเจอร์ แต่ละฟีเจอร์ก็จะมีลูกเล่นที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเข้ามาช่วยให้การปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อเพิ่ม Conversion นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

1) Experiment Types

A/B Testing

ในการสร้างเว็บไซต์ สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงเป็นอย่างมากคือ องค์ประกอบบนหน้าเว็บไซต์ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการ แต่การที่แบรนด์จะรู้ว่าหน้าตาเว็บไซต์แบบไหนที่จะดึงดูดผู้ใช้จริงได้มากที่สุดก็ต้องมีการทดสอบการใช้งานเกิดขึ้นก่อนเพื่อวัดผล ใน Google Optimize จะมีฟีเจอร์การทำ Experiment ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

1.1) A/B Test

A/B Testing คือการนำเว็บที่ประกอบด้วยองค์ประกอบเดียวกันสองเวอร์ชันขึ้นไปเพื่อเปรียบเทียบว่าเวอร์ชันไหนทำงานได้ดีที่สุดในเชิง Conversion เช่น การมีคำในปุ่มกดสั่งซื้อ 2 แบบ เพื่อเปรียบเทียบว่าคำไหนคนจะคลิกมากกว่ากัน หรือ การใช้สี 2 สีในปุ่มเดียวกันเพื่อดูว่าสีไหนได้ Conversion สูงกว่ากัน A/B Testing เป็นวิธีการทดสอบหน้าเว็บไซต์ที่ง่ายที่สุด นอกจากนี้แบรนด์ยังสามารถใช้สร้างการทดสอบที่ซับซ้อนจำนวนมากได้

1.2) Multivariate Test

Multivariate Testing คือการทดสอบหลายๆองค์ประกอบในแต่ละครั้ง ซึ่งชุดองค์ประกอบในแต่ละเวอร์ชันจะถูกสุ่มเลือกจากระบบขึ้นมาเป็นค่าผสม เช่น มีองค์ประกอบ Font ทั้งหมด 3 รูปแบบ Font1, Font2, Font3 และ องค์ประกอบ ปุ่ม CTA ทั้งหมด 2 รูปแบบ CTA1, CTA2 พอป้อนข้อมูลเข้าระบบก็จะถูกผสมออกมาเป็น 6 เวอร์ชัน ในการทดสอบ 1 ครั้ง

  • เวอร์ชัน 1: Font1 + CTA1
  • เวอร์ชัน 2: Font1 + CTA2
  • เวอร์ชัน 3: Font2 + CTA1
  • เวอร์ชัน 4: Font2 + CTA2
  • เวอร์ชัน 5: Font3 + CTA1
  • เวอร์ชัน 6: Font3 + CTA2    

เพื่อหาว่าองค์ประกอบใดทำงานได้ดีที่สุด ซึ่งใน Google Optimize แบรนด์จจะสามารถทดสอบชุดค่าผสมได้สูงสุด 16 ชุดต่อครั้ง

1.3) Split URL Testing

Split URL Testing หรือเรียกอีกอย่างว่า Redirect Testing เป็นการทดสอบหน้าเว็บสองหน้าที่แตกต่างกันด้วย JavaScript ซึ่งการทดลองโดยสุ่มเปลี่ยนเส้นทางการใช้งานบนหน้าเว็บแบบเดิมไปยังหน้าเว็บแบบใหม่ เพื่อติดตามการกระทำของผู้ใช้งานในหน้านั้น การทดสอบนี้มักใช้เพื่อเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการออกแบบหน้าเว็บไซต์ใหม่ นอกจจากนี้ Split URL Testing ยังใช้เพื่อเปรียบเทียบการออกแบบหน้าเว็บที่แตกต่างกันสองแบบสำหรับหนึ่งองค์ประกอบ เช่น การชำระเงินแบบหน้าเดียว vs การชำระเงินแบบหลายหน้า

1.4) Personalization

ทำ Personalization เพื่อปรับแต่งประสบการณ์การใช้งานให้ตรงตามความต้องการของตัวผู้ใช้เอง โดยกำหนดเป้าหมายตามฐานข้อมูลที่มีอยู่ เช่น ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (ประเทศ / จังหวัด), อายุ, อุปกรณ์ (Android / iPhone) และ ประวัติการใช้งานบนเว็บไซต์ โดยใช้อัลกอริทึมเพื่อแสดง “สินค้า / บริการที่ผู้ใช้อาจชอบ” เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้รายนั้นอยู่ต่อจนเกิด Conversion เพิ่ม หรือ ตัดสินใจกลับมาใช้บริการใหม่เนื่องจากตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาต้องการ ใน Google Optimize แบรนด์สามารถตั้งค่าวัตถุประสงค์สำหรับกลุ่มผู้เข้าใช้เฉพาะ เช่น การมีหน้าลดราคาสำหรับเสื้อโค้ทในประเทศญี่ปุ่น หรือ หน้าลดราคากางเกงยีนส์ขาสั้นในประเทศไทย

2) Visual Editor

ก่อนการสร้างการทดสอบใน Google Optimize แบรนด์จะต้องทำการแก้ไข Copy ของหน้าเว็บไซต์เดิมก่อน เมื่อมีการ Copy และปรับแก้ดีไซน์และองค์ประกอบจากไฟล์ที่ Copy เรียบร้อยแล้ว หน้าเว็บไซต์ที่ถูกแก้ไขนั้นก็จะถูกขึ้นสู่สาธารณะเพื่อแข่งขันกับหน้าเว็บต้นฉบับ 

3) Customizations

Google Optimize ประกอบด้วยฟีเจอร์ที่สามารถจัดการการเปลี่ยนแปลงแบบไดนามิก แต่แทนที่ทีมจะใช้การตั้งค่าอัตโนมัติใดๆที่กำหนดให้อยู่แล้ว ทีมสามารถปรับใช้การตั้งค่าเหล่านี้เพื่อสร้างการทดสอบรูปแบบใหม่ๆให้ได้มากที่สุด ซึ่งสิ่งนี้ทำให้นักพัฒนามีสิทธิ์ในการควบคุมการใช้คุณสมบัติแต่ละอย่างได้อย่างเต็มที่

4) User Rules

User Rules หรือที่รู้จักกันในชื่อ “URL Targeting” ช่วยให้แบรนด์สามารถเลือกชุดของหน้าเว็บที่จะได้รับผลกระทบจากการทดสอบ โดยที่หน้าอื่นๆที่เหลือบนเว็บไซต์จะไม่ได้รับผลกระทบจากการทดสอบที่กำลังดำเนินการอยู่ พร้อมยังช่วยให้มั่นใจว่าผลการทดสอบที่ออกมานั้นถูกต้อง

5) User Attributes

สร้างประสบการณ์การใช้งานแบบ Personalized สำหรับผู้ใช้แต่ละรายผ่าน User Attributes (การตั้งค่าตามลักษณะของผู้ใช้) ที่แตกต่างกันในการทำ A/B Test เช่น ตามอุปกรณ์ที่ใช้ (Andriod / iPhone), เบราว์เซอร์ที่ใช้ (Chrome / Safari / Firefox), ตำแหน่งที่มีการใช้งาน และ ช่วงอายุ ตามผลการวิเคราะห์ใน Google Analytics แบรนด์สามารถกำหนดเป้าหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมจากกลุ่มเป้าหมายที่ควรจะเป็นผู้ใช้งานที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบนั้น

6) Objective Types

Google Optimize ให้อิสระในการใช้วัตถุประสงค์ (Objective) ที่แม่นยำสำหรับการทดสอบแต่ละครั้ง โดยประเภทของวัตถุประสงค์ใน Google Optimize มีดังนี้:

6.1) System Objective

Google Optimize มีวัตถุประสงค์ไม่กี่แบบที่ใช้โดยทั่วไปในทุกการทดสอบ ในส่วนของ System Objective อาจเป็นจำนวนการเข้าชม (Pageview), ระยะเวลาในการเข้าชมในหนึ่งเซสชัน (Session Duration), จำนวนการกดออกจากหน้าเว็บโดยทันที (Bounces), การชำระเงิน (Transaction) และ รายได้ (Revenue) ซึ่งมักถูกใช้เป็นวัตถุประสงค์หลัก

6.2) Custom Objectives

หากวัตถุประสงค์ใน System Objective ไม่เพียงพอ ทีมสามารถสร้างชุด Custom Objectives (วัตถุประสงค์ที่กำหนดเอง) ได้ ซึ่ง Custom Objectives จะมีสองแบบดังนี้:

  • Event Objective: การกระทำบางอย่างโดยไม่คำนึงถึง Pageviews โดยจะแทร็กการโต้ตอบของผู้ใช้กับองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบปกติหรือไดนามิก เช่น การเล่นวิดีโอหลังจากคลิก CTA 
  • Pageview Objective: ทดสอบโดยทำการแทร็กจำนวนการเข้าชมหน้าเว็บหน้าใดหน้าหนึ่งในเว็บไซต์นั้นๆ

7) Reporting

Google Optimize Report

​​มีตัวเลือก Report ใน Google Optimize ที่คอยประมวลผลลัพธ์ของการทดสอบมาให้พร้อมคำแนะนำอยู่แล้ว ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการวิเคราะห์ลง ทั้งนี้ทีมยังสามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมจากข้อมูลที่เครื่องมือรายงานให้เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้งานรูปแบบต่างๆ 

8) Experiment Management

Google Optimize ช่วยให้ทีมสามารถจัดการการทดสอบที่กำลังทำงานอยู่บนเว็บไซต์ แบรนด์สามารถทำการทดสอบได้สูงสุด 5 รายการต่อครั้ง พร้อมสร้างรายงานแยกต่างหากสำหรับแต่ละการทดสอบ นอกจากนี้ยังจัดเก็บการทดลองก่อนหน้านี้เพื่อให้ทีมย้อนกลับไปดูเพื่อใช้อ้างอิงในการสร้างการทดสอบใหม่ได้ตลอดเวลา 

ภายใต้ฟีเจอร์หลักอย่าง Experiment Management ก็ยังมีฟีเจอร์รองที่มีประโยชน์ต่อการทำการทดสอบอีกมากมาย เช่น

8.1) Experiment Preview

Google Optimize มีฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้ Preview หน้าที่จะทำการทดสอบเพื่อดูตัวอย่างได้ก่อน โดยสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาก่อนที่จะดำเนินการ โดยการกด Preview Link หรือ ลิงก์แสดงตัวอย่างการทดสอบ เพื่อดูภาพรวมหน้าเว็บไซต์ตัวอย่างรวมไปถึงรูปแบบการโต้ตอบของแต่ละองค์ประกอบกับผู้ใช้งาน หากพบปัญหา จุดบกพร่อง หรือข้อผิดพลาดในลิงก์แสดงตัวอย่าง ทีมสามารถแก้ไขได้ก่อนที่จะเริ่มการทดสอบจริงโดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานจริง

8.2) User Permissions

หากต้องการให้ทีมทั้งภายในและภายนอกใช้ Google Optimize ในการทำ A/B Test ร่วมกัน แบรนด์สามารถตั้งค่าสิทธิ์ของผู้ใช้ได้ ด้วยวิธีนี้ผู้ใช้แต่ละคนจะมีสิทธิ์เข้าถึงที่จำเป็นเท่านั้น บางคนอาจดูได้เท่านั้น ในขณะที่นักพัฒนาสามารถแก้ไขได้ 

8.3) Scheduling

แบรนด์สามารถเลือกเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มการทดสอบได้โดยการตั้งเวลาให้ปล่อยการทดสอบโดยอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มใช้งานการทดสอบทันทีหลังจากที่สร้างการทดสอบเสร็จแล้ว

Google Optimize ใช้กับอะไรได้บ้าง

แน่นอนว่าการใช้ Google Optimize คู่กับเครื่องมือต่างๆของ Google เช่น Google Analytics 4, Looker Studio, Firebase, AdWords หรือ Tag Manager เป็นอะไรที่ง่ายอยู่แล้ว แต่เจ้าเครื่องมือนี้ก็ยังสามารถใช้คู่กับเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Shopify, WordPress หรือ Magento เป็นต้น นอกจากนี้แบรนด์ยังสามารถเข้าไปที่ Google Optimize Integration Center เพื่อค้นหาเครื่องมือที่สามารถใช้คู่กันกับ Google Optimize เพิ่มเติมได้ตามความต้องการ

บทสรุป

ถึงแม้ว่าการจะออก Product ที่ดีมากๆออกมาซักหนึ่งชิ้น จะเป็นด่านแรกที่สามารถการันตีได้ว่าจะมียอดขายในช่วงแรก แต่การที่จะทำให้ยอดขายนั้นขยายเป็นวงกว้างไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องในช่วงเวลา, พื้นที่, สภาพอากาศ หรือ แม้แต่ปัจจัยอื่นๆที่เหมาะสมในระยะยาวเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ามาก 

การที่แบรนด์สามารถปรับแต่งและทดสอบเว็บไซต์ที่นำเสนอ Product ต่างๆของตัวเองใน Google Optimize เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่น่าประทับใจและตอบโจทย์กับสิ่งที่ผู้ใช้กำลังมองหาได้เรื่อยๆโดยไม่มีที่สิ้นสุด นั่นถือเป็นการสร้างกำไรจาก Conversion ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งกับกลุ่มเป้าหมายเดิมและกลุ่มเป้าหมายใหม่

หลังจากที่อ่านกันจนมาถึงตรงนี้แล้ว ผมหวังว่าทุกคนจะเห็นถึงความสำคัญของเจ้าเครื่องมือ Google Optimize นี้กันมากขึ้นนะครับ สำหรับใครที่อยากทดสอบหน้าเว็บไซต์ตัวเองแต่ต้องการมืออาชีพเข้าไปช่วยวางกลยุทธและเซ็ตระบบการทดสอบเพื่อเพิ่ม Conversion ให้กับแบรนด์ หรือหากมีองค์กรไหนที่สนใจอยากใช้เครื่องมือนี้ให้เป็นแต่ต้องการคอร์สเทรนนิ่งปังๆจากทีมผู้เชี่ยวชาญ สามารถคลิก “ติดต่อ Predictive” ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

Reference