สิ่งที่ไม่ควรทำถ้าไม่อยากให้เว็บไซต์ตกอันดับ

ชาว SEO ที่คลุกคลีอยู่กับเว็บไซต์ย่อมรู้กันดีว่าการทำ SEO นั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวทั้งยังต้องอาศัยประสบการณ์ การลองผิดลองถูก และเรียนรู้จากความผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง เราจึงรวมบทเรียนสิ่งไม่ควรทำถ้าไม่อยากเห็นอันดับเว็บไซต์ร่วงตุ้บ เพื่อช่วยทุกคนประหยัดเวลาและเลี่ยงข้อผิดพลาดเสียแต่เนิ่นๆ 

1. Auto-generated Content

การผลิตคอนเทนต์ที่ Auto-generated หมายถึงการใช้โปรแกรมต่างๆเขียนคอนเทนต์หรือเนื้อหาใดๆขึ้นมา เพียงเพื่อปั่นอันดับการค้นหาโดยไม่เอื้อประโยชน์ใดๆต่อผู้ใช้ ซึ่งเมื่อพบเจอGoogle จะจัดการผลักเว็บไซต์ให้ตกอันดับ คอนเทนต์รูปแบบนี้อาจมีลักษณะต่อไปนี้

  • มีแต่คีย์เวิร์ดแต่อ่านเนื้อความไม่รู้เรื่อง จับใจความไม่ได้ อ่านเนื้อหาแล้วไม่รู้ว่ากำลังสื่ออะไร
  • คอนเทนต์ที่แปลภาษามาโดยโปรแกรมต่างๆ แต่ไม่ได้ผ่านการตรวจทานและปรับแต่งให้เป็นภาษาคนโดยคนจริงๆ 
  • คอนเทนต์ที่สร้างโดยกระบวนการอัตโนมัติ เช่นใช้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์เขียนเนื้อหาเดิมๆ ซ้ำๆ แทนคน หรือ ใช้วิธีลูกโซ่มาร์คอฟ (Markov chains) 
  • คอนเทนต์ที่เอาเนื้อหาจากบทความบนเว็บไซต์อื่นๆ มาตัดแปะเข้าด้วยกันเฉยๆ โดยไม่ได้เพิ่มสาระใหม่ๆ เข้าไป

2. Sneaky Redirects

การ redirect ผู้ใช้ไป URL อื่นแทนที่จะเป็นหน้าเว็บไซต์ที่ตั้งใจกดเข้ามาแต่แรกนั้นสามารถทำได้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนที่อยู่ของหน้าเว็บไซต์นั้นๆ หรือการยุบรวมหลายๆ เพจเว็บมาไว้หน้าเดียวกัน แต่ Google ก็ไม่ค่อยปลื้มนักในกรณีที่คนทำ SEO จงใจ redirect ผู้ใช้ไปหน้าอื่นเพื่อแสดงผลคอนเทนต์ที่แตกต่างจากสิ่งที่ crawler หรือบอทของ Google นั้น index ได้ เช่น 

  • การทำหน้า redirect ให้ Google อ่านอีกอย่างแต่คนจริงๆ อ่านอีกอย่าง
  • การทำให้ผู้ใช้บน desktop อ่านอีกอย่างแต่ผู้ใช้ mobile อ่านอีกอย่าง

3. Thin Content

Google ไม่เคยออกมาบอกว่าความยาวของคอนเทนต์มีส่วนสำคัญกับอันดับเว็บไซต์แต่อย่างใด การทำ SEO จึงควรใส่ใจในคุณภาพเนื้อหาเป็นหลัก โดยการให้ข้อมูลที่สำคัญครบถ้วนแก่ผู้ใช้ ใส่คีย์เวิร์ดที่มีความเกี่ยวข้องและตรงกับประเด็นที่จะสื่อ
Thin Content จึงหมายถึง คอนเทนต์ที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน สำหรับ Google แล้วเว็บไซต์เหล่านี้จะโดนปัดตกไปจากหน้าค้นหานั่นเอง คนทำ SEO จึงควรรักษาประสิทธิภาพเว็บตัวเองไม่ให้มีเนื้อหาเข้าข่าย Thin Content เช่น

  • เว็บขายของที่ใส่ affiliate links ในเนื้อหาเกี่ยวกับรายละเอียดโปรดักส์โต้งๆ โดยไม่มีสาระสำคัญเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้เลย (ขายของอย่างเดียว)
  • คอนเทนต์ที่คัดลอกเนื้อหาจากเว็บไซต์อื่นมาโพสต์ใหม่ หรือเอามาปรับคำด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ 
  • คอนเทนต์ที่คัดลอกเนื้อหาจากเว็บไซต์อื่นมาเขียนใหม่โดยไม่ได้มีการเรียบเรียงใหม่หรือค้นหาเนื้อหาเพิ่มเติม

4. Keyword Stuffing

จริงอยู่ว่าคีย์เวิร์ดนั้นสำคัญมากในการทำ SEO แต่การใส่คีย์เวิร์ดจำนวนมากที่ไม่มีความเชื่อมโยงกันก็อาจโดนมองว่าเป็นการ Keyword Stuffing ได้ เรามักจะเห็นการใส่คีย์เวิร์ดทำนองนี้ในรูปแบบของลิสต์รายการ หรือการใช้คำเดิมซ้ำๆ อย่างไม่เป็นธรรมชาติเพราะคิดว่าจะช่วยดันอันดับเว็บไซต์ ยกตัวอย่างเช่น เราอยากให้เว็บไซต์เราติดอันดับด้วยคำว่า ทำ SEO เราจึงเขียนให้มีเนื้อหาว่า 

“บริษัทรับทำ SEO โดยนักทำ SEO มืออาชีพพร้อมด้วยประสบการณ์ทำ SEO นานกว่า 10 ปีติดต่อทีม SEO ของเราเพื่อรับคำปรึกษาในการทำ SEO ได้เลย”

การใส่คีย์เวิร์ด “ทำ SEO” อย่างไม่บันยะบันยังก็อาจโดน Google มองว่าเรากำลังยัดคีย์เวิร์ดนี้เข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ดีกับประสบการณ์การใช้งาน อาจโดนปัดตก และ เสียโอกาสขึ้นมาติดอันดับดีๆ ดังนั้นแล้วไม่จำเป็นต้องกับการใส่คำมากเกินไปแต่ใส่ใจกับคุณภาพเนื้อหาในหน้าเว็บให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้จะดีกว่า

5. Paid links

Google ให้ความสำคัญกับ Links ในแง่ที่ว่าถ้าเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพดีก็ย่อมถูกบอกต่อโดยเว็บไซต์อื่นเช่นกันผ่านการใส่ลิงก์กลับมา (Back Links) แต่ทว่าการใส่ลิงก์ที่ซื้อขายระหว่างกัน (จ้าง/จ่ายเงินให้ใส่ลิงก์) ก็เข้าข่ายที่จะโดน Google ปัดตกอันดับเช่นกัน หากการซื้อขายนั้นมีเจตนาเพื่อปั่นหรือดันอันดับเว็บไซต์ตัวเองใน PageRank โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของลิงก์หรือแหล่งที่มาคอนเทนต์เลย 

แต่ Paid Links ก็มีข้อยกเว้นเช่นเดียวกัน หากลิงก์นั้นมีเจตนาเพื่อโฆษณาหรือมีเป้าหมายทางการตลาด สิ่งที่เราในฐานะคนทำSEOต้องทำก็แค่บอก Google ผ่าน HTML tag ด้วยวิธีนี้

  • เพิ่ม rel=”nofollow” หรือ rel=”sponsored” ลงใน <a> tag
  • Redirect ลิงก์นั้นกลับไปที่หน้าตรงกลางที่ใส่ไฟล์ robots.txt ไว้

6. Poor Design Pop-Ups Content

การใส่ Pop-Ups Content มีข้อดีที่ช่วยเพิ่ม Conversion Rate ให้กับเว็บไซต์ด้วยความที่มองเห็นได้ง่ายและผู้ใช้สามารถโต้ตอบได้ทันทีจึงช่วยเพิ่มยอดTrafficให้กับเว็บไซต์อีกด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ใช่ว่าทุกป๊อปอัพจะให้ผลเช่นนั้น เพราะป๊อปอัพที่ออกแบบมาเกะกะสายตา หรือกินพื้นที่เต็มหน้าเว็บไซต์ก็ส่งผลให้ผู้ใช้เผ่นหนีคลิกออกจากหน้าเพจเราจนBounce Rateพุ่งพรวดได้เช่นกัน ยกเว้นว่าป๊อปอัพนั้นจะใช้ตามกฏหมายบังคับเช่น Cookie Consent หรือ ช่องให้ระบุอายุ(Age Verification) การใส่ Pop-Ups Content ที่เหมาะสมตาม Google guidelines จึงควรที่จะ

  • มีปุ่มกดปิดชัดเจน ใช้งานง่าย
  • เว้นจังหวะให้ผู้ใช้ได้อ่านคอนเทนต์ก่อนที่ป๊อปอัพจะเด้งขึ้นมา
  • ใส่ป๊อปอัพไว้ในหน้าที่2ของsessionเพื่อให้ผู้ใช้ได้มีเวลาอ่านสิ่งที่ต้องการก่อน
  • ตั้งค่าป๊อปอัพเด้งขึ้นมาหลังจากผู้ใช้ไถหน้าเว็บไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง
  • เป็นป๊อปอัพที่ยื่นข้อเสนอที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้จริงๆ
  • ไม่เป็นป๊อปอัพที่ขัดขวางการใช้งานเว็บไซต์
  • ข้อความบนป๊อปอัพตรงประเด็น กระชับครบถ้วนและได้ใจความ

7. Auto Play Video

การอัปโหลดหรือฝังวิดีโอไว้บนเว็บไซต์ของเราอาจไม่ใช่เรื่องดีนักในการทำ SEO เพราะส่งผลให้หน้าเว็บโหลดนานขึ้น หรือต่อให้โหลดเร็วแค่ไหนแต่วิดีโอที่เล่นอัตโนมัติส่งผลเสียต่อประสบการณ์การใช้งานเพราะผู้ใช้โดนขัดจังหวะโดยวิดีโอที่โพล่งขึ้นมาสุ่มสี่สุ่มห้าซึ่งรบกวนความสนใจของผู้ใช้ที่ต้องการอ่านเนื้อหาและกดปิดหนีไปในที่สุด

ใครที่อยากรู้สถานะเว็บไซต์ตัวเอง สามารถเข้าไปเช็คได้เลยที่ https://search.google.com/search-console/manual-actions

ที่มาข้อมูลจาก https://developers.google.com/search/docs/advanced/guidelines/get-started

Get in touch

Let's work together!

"*" indicates required fields

Name*
Please let us know what's on your mind. Have a question for us? Ask away.